ประวัติศาสตร์ไทย หน่วยการเรียนรู้ที่ 1


ลักษณะของภูมิปัญญาไทยมีอะไรบ้าง


[ขยายดูภาพใหญ่ ]






ลักษณะของภูมิปัญญาไทย มีดังนี้
๑. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเป็นทั้งความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรม
๒. ภูมิปัญญาไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
๓. ภูมิปัญญาไทยเป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของคน
๔. ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว และการเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม
๕. ภูมิปัญญาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการมองชีวิต เป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ
๕. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเฉพาะ หรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง
๗. ภูมิปัญญาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคม








คุณสมบัติของภูมิปัญญาไทยตามที่กำหนดไว้มีอะไรบ้าง



[ขยายดูภาพใหญ่ ]






ผู้ทรงภูมิปัญญาไทยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ อย่างน้อยดังต่อไปนี้
๑. เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพต่างๆ มีผลงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นของตน และได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาของตนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงวิถีชีวิตโดยตลอด
๒. เป็นผู้คงแก่เรียนและหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ผู้ทรงภูมิปัญญาจะเป็นผู้ที่หมั่นศึกษา แสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นผู้ลงมือทำโดยทดลองทำตามที่เรียนมา
๓. เป็นผู้นำของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สังคม ในแต่ละท้องถิ่นยอมรับให้เป็นผู้นำ ทั้งผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ และผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นผู้นำของท้องถิ่นและช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
๔. เป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาล้วนเป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น เอาใจใส่ ศึกษาปัญหา หาทางแก้ไข และช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียงอย่างไม่ย่อท้อ จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของสมาชิกและบุคคลทั่วไป
๕. เป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ผู้ทรงภูมิปัญญาเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ลงมือทำงานและผลิตผลงานอยู่เสมอ ปรับปรุงและพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากขึ้นอีกทั้งมุ่งทำงานของตนอย่างต่อเนื่อง
๖. เป็นนักปกครองและประสานประโยชน์ของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญา นอกจากเป็นผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนดี จนเป็นที่ยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไปแล้ว ผลงานที่ท่านทำยังถือว่ามีคุณค่า จึงเป็นผู้ที่มีทั้ง "ครองตน ครองคน และครองงาน"
๗. มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เป็นเลิศ เมื่อผู้ทรงภูมิปัญญามีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นเลิศ มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและบุคคลทั่วไป ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ นักเรียน นิสิต/นักศึกษา โดยอาจเข้าไปศึกษาหาความรู้ หรือเชิญท่านเหล่านั้นไป เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ได้
๘. เป็นผู้มีคู่ครองหรือบริวารดี ผู้ทรงภูมิปัญญา ถ้าเป็นคฤหัสถ์ จะพบว่า ล้วนมีคู่ครองที่ดีที่คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ให้ความร่วมมือในงานที่ท่านทำ ช่วยให้ผลิตผลงานที่มีคุณค่า ถ้าเป็นนักบวช ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ต้องมีบริวารที่ดี จึงจะสามารถผลิตผลงานที่มีคุณค่าทางศาสนาได้
๙. เป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญจนได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ผู้ทรงภูมิปัญญา ต้องเป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญ รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานพิเศษใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
เราสามารถจัดแบ่งภูมิปัญญาไทยได้กี่สาขา



[ขยายดูภาพใหญ่ ]






จากการศึกษาพบว่า มีการกำหนดสาขาภูมิปัญญาไทยไว้อย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่หน่วยงาน องค์กร และนักวิชาการแต่ละท่านนำมากำหนด ในภาพรวมภูมิปัญญาไทยสามารถแบ่งได้เป็น ๑๐ สาขาดังนี้
๑. สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในภาวการณ์ต่างๆ ได้
๒. สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลิตผล เพื่อชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้
๓. สาขาการแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้
๔. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
๕. สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสะสมและบริการกองทุน และธุรกิจในชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุม
๖. สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคน ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
๗. สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ ศิลปะมวยไทย เป็นต้น
๘. สาขาการจัดการองค์กร หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการดำเนินงานขององค์กรชุมชนต่างๆ ให้สามารถพัฒนา และบริหารองค์กรของตนเองได้ตามบทบาท และหน้าที่ขององค์การ เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
๙. สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถผลิตผลงานเกี่ยวกับด้านภาษาทั้งภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทยและการใช้ภาษา ตลอดทั้ง ด้านวรรณกรรมทุกประเภท เช่น การจัดทำสารานุกรมภาษาถิ่น การปริวรรต หนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่นของท้องถิ่นต่างๆ เป็นต้น
๑๐. สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติ ให้บังเกิดผลดีต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม

ลักษณะความสัมพันธ์ของภูมิปัญญาไทยเป็นอย่างไร

[ขยายดูภาพใหญ่ ]






ภูมิปัญญาไทยสามารถสะท้อนออกมาใน 3 ลักษณะที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกัน คือ
๑. ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช และธรรมชาติ
๒. ความสัมพันธ์ของคนกับคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม หรือในชุมชน
๓. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งเหนือธรรมชาติ ตลอดทั้งสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลาย
ทั้ง 3 ลักษณะนี้ คือ สามมิติของเรื่องเดียวกัน หมายถึง ชีวิตชุมชน สะท้อนออกมาถึงภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างมีเอกภาพ เหมือนสามมุมของรูปสามเหลี่ยม ภูมิปัญญาจึงเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย
ภูมิปัญญาไทยช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นได้อย่างไร


[ขยายดูภาพใหญ่ ]






พระมหากษัตริย์ไทยได้ใช้ภูมิปัญญาในการสร้างชาติ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงปกครองประชาชนด้วยพระเมตตาแบบพ่อปกครองลูก ผู้ใด ประสบความเดือดร้อนก็สามารถตีระฆังแสดงความเดือดร้อนเพื่อขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ ต่อประเทศชาติร่วมกันสร้างบ้านเรือนจนเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญากระทำยุทธหัตถีจนชนะข้าศึกศัตรู และทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช รัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญาสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเหล่าพสกนิกรมากมายเหลือคณานับ ทรงใช้พระปรีชาสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง ภายในประเทศ จนรอดพ้นภัยพิบัติหลายครั้ง พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน แม้แต่ด้านการเกษตร พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ให้แก่พสกนิกร ทั้งด้านการเกษตรแบบสมดุลและยั่งยืน ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม นำความสงบร่มเย็นของประชาชนให้กลับคืนมา แนวพระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" แบ่งออกเป็น 3 ขั้น โดยเริ่มจาก ขั้นตอนแรก ให้เกษตรกรรายย่อย "มีพออยู่พอกิน" เป็นขั้นพื้นฐาน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา ซึ่งเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการ มูลนิธิ และหน่วยงานเอกชน ร่วมใจกันพัฒนาสังคมไทย ในขั้นที่สอง เกษตรกรต้องมีความเข้าใจในการจัดการในไร่นาของตน และ มีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ เพื่อสร้างประสิทธิภาพทางการผลิตและการตลาด การลดรายจ่ายด้านความเป็นอยู่ โดยทรงตระหนักถึงบทบาทขององค์กรเอกชน เมื่อกลุ่มเกษตรวิวัฒน์มาขั้นที่ 2 แล้ว ก็จะมีศักยภาพ ในการพัฒนาไปสู่ขั้นที่ 3 ซึ่งจะมีอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์กับสถาบันการเงินคือธนาคาร และองค์กรที่เป็นเจ้า ของแหล่งพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลิต โดยมีการแปรรูปผลิตผล เช่น โรงสี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผล และขณะเดียวกันมีการจัดตั้งร้านค้าสหกรณ์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิต ประจำวัน อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลในสังคม จะเห็นได้ว่ามิได้ทรงทอดทิ้งหลักของความสามัคคีในสังคมและการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งทรง สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรสร้างอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจ จึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงจัดได้ว่าเป็นสังคมเกษตรที่พัฒนาแล้ว สมดังพระราชประสงค์ที่ทรงอุทิศพระวรกายและพระสติปัญญา ในการพัฒนาการเกษตรไทยตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์

คุณค่าทางด้านการสร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรี เกียรติภูมิแก่คนไทยเป็นอย่างไร



[ขยายดูภาพใหญ่ ]






คนไทยในอดีตที่มีความสามารถปรากฏในประวัติศาสตร์มีมาก เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เช่น นายขนมต้มเป็นนักมวยไทยที่มีฝีมือเก่งในการใช้อวัยวะทุกส่วน ทุกท่าของแม้ไม้มวยไทย สามารถชกมวยไทย จนชนะพม่าได้ถึงเก้าคนสิบคนในคราวเดียวกัน แม้ในปัจจุบันมวยไทยก็ยังถือว่า เป็นศิลปะชั้นเยี่ยม เป็นที่นิยมฝึก และแข่งขันในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30,000 แห่ง ชาวต่างประเทศที่ได้ฝึกมวยไทยจะรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ ในการที่จะใช้กติกาของมวยไทย เช่น การไหว้ครูมวยไทย การออกคำสั่งในการชกเป็นภาษาไทยทุกคำ เช่น คำว่า "ชก" "นับหนึ่งถึงสิบ" เป็นต้น ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้ ภูมิปัญญาไทยที่โดดเด่นยังมีอีกมากมาย เช่น มรดกภูมิปัญญาทางภาษาและวรรณกรรม โดยที่มีอักษรไทยเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมไทยถือว่าเป็น วรรณกรรมที่มีความไพเราะ ได้อรรถรสครบทุกด้าน วรรณกรรม หลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา
ด้านอาหาร อาหารไทยเป็นอาหารที่ปรุงง่าย พืชที่ใช้ประกอบอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและราคาถูก มีคุณค่าทางโภชนาการ และยังป้องกันโรคได้หลายโรค เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกะเพรา เป็นต้น
การส่งเสริมภูมิปัญญาไทยมีอะไรบ้าง

[ขยายดูภาพใหญ่ ]






เนื่องจากภูมิปัญญาไทยมีความสำคัญดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ดำรงอยู่ เพื่อเป็นฐานความรู้ในการผสมผสานกับวิทยาการสากล ดังนี้
๑. ประเทศยกย่อง "ครูภูมิปัญญาไทย" ให้สามารถทำการถ่ายทอด และพัฒนาผลงานของตนได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ โดยจัดระบบเกื้อหนุนและส่งเสริมกระบวนการถ่ายทอด ที่ท่านเหล่านี้ดำเนินการอยู่แล้วส่วนหนึ่ง และเชื่อมโยงกระบวนการถ่ายทอดของท่าน
๒. จัดให้มีศูนย์ภูมิปัญญาไทย ซึ่งแนวคิดนี้ต้องการให้มีแหล่งสำหรับการเรียนรู้ภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆ เกิดขึ้น อาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น บ้านของผู้ทรงภูมิปัญญา วัด ศาลาของหมู่บ้าน เวทีชาวบ้าน เป็นต้น เพียงแต่เข้าไปช่วยเสริมเพื่อให้สามารถใช้สถานที่นั้นๆ
๓. จัดตั้งสภาภูมิปัญญาไทย เนื่องจากลักษณะภูมิปัญญาไทยมีความหลากหลายสมดุลกันเป็นองค์รวม หากนำเรื่องภูมิปัญญาไทยเข้าไปไว้ในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือกรมใดกรมหนึ่ง นโยบายของกระทรวงและกรมนั้น จะเป็นตัวกำหนดกรอบของภูมิปัญญาไทยให้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่อง
๔. จัดตั้งกองทุนส่งเสริมภูมิปัญญาไทย ด้วยความจำกัดของระบบการจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาล ที่มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและระยะเวลา รวมทั้งสภาวการณ์ของประเทศมาเป็นตัวตัดสินว่า โครงการ/งานใดควรได้รับ งบประมาณเท่าใด และจะได้รับเงินในปีถัดไปหรือไม่ ทำให้การดำเนินงานส่งเสริมภูมิปัญญาไทยซึ่งต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง
๕. การคุ้มครองลิขสิทธิ์ภูมิปัญญาไทย เพื่อให้ภูมิปัญญาไทยอันเป็นมรดกทางปัญญาของแผ่นดินได้อยู่คู่กับคนไทย เป็นทุนทางปัญญาในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง วัฒนธรรม การสงวนและรักษามรดกทางภูมิปัญญาดังกล่าว จึงต้องมีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางภูมิปัญญาเกิดขึ้น
๖. ตั้งสถาบันแห่งชาติว่าด้วยภูมิปัญญาและการศึกษาไทย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและเผยแพร่ภูมิปัญญาไทย การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญมากในการทำงานต่อภาพพจน์และสถานภาพของบุคคล หน่วยงาน/องค์กร/สถาบันต่างๆ การส่งเสริมภูมิปัญญาไทยนั้นยิ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก
๗. การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ทรงภูมิปัญญาไทยทั้งในระดับชาติและระดับโลก
แบบทดสอบหน่วยการเรียนรู้ที่1 ภูมิปัญญาไทย